water treatment

น้ำที่ใช้ในหม้อไอน้ำ

ปัญหาด้านน้ำ

การเกิดตะกรัน

        ปัญหาตะกรันเคลือบผิวท่อที่มีน้ำผ่าน ทำให้ถ่ายเทความร้อนได้น้อยลง มีผลทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น สมมุติหม้อไอน้ำผลิตไอน้ำได้ 5 ตันต่อชั่วโมง เดินเครื่อง 20 ชม./วัน จะสามารถผลิตไอน้ำทั้งวันได้ 100 ตัน ถ้าอัตราการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันเตาอย่างมีประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 70 – 75 ลิตร/1 ตันไอน้ำที่ผลิตได้ แต่ถ้าหากว่ามีตะกรันเกิดขึ้นหนาเพียง 1 มิลลิเมตร ถ้าเป็นตะกรันของพวกคาร์บอเนต จะกินเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 4% แต่ถ้าตะกรันนั้นเป็นซิลิเกตก็จะกินเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 8% ในกรณีที่มีตะกรันเกิดขึ้น เช่นเดิมเราใช้น้ำมัน 75 ลิตรต่อ 1 ตัน แต่ปัจจุบันเป็น 76 ลิตรต่อ 1 ตัน อัตราการใช้น้ำมันเตาจะเพิ่มขึ้น 100 ลิตร ต่อวัน แสดงว่าจะต้องมีการสิ้นเปลืองน้ำมันในปีหนึ่งๆไม่น้อยเลย

        ปัญหาการเกิดตะกรันในหม้อไอน้ำนั้น นอกจากการใช้น้ำที่มีความกระด้างน้อยหรือไม่มีความกระด้างแล้ว ยังต้องมีการใช้สารเคมีช่วยด้วย เพราะในน้ำป้อนอาจจะมีเกลือแคลเซียมและเกลือแมกนีเซียมหลุดเข้าไปได้ เราจึงต้องใส่ตัวฟอสเฟตเข้าไปช่วยให้มันจับตัวเป็นแคลเซียมฟอสเฟต หรือแมกนีเซียมฟอสเฟตซึ่งจะไม่เกิดเป็นตะกรัน แต่มันจะเกิดเป็นตะกอน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตะกอนนอนก้นเราจึงใส่โพลีเมอร์เข้าไปด้วยเพื่อให้ตะกอนมัน Disperse หรือกระจายตัวไม่จับกัน ตัวตะกอนนี้จะตรวจสอบจากค่าการนำไฟฟ้าไม่ได้ เวลาที่เราโบวดาวถ้าเราโบวดาวในเวลาสั้น ๆ มันก็มีแต่น้ำที่มีความเข้มข้นสูงออกไปแต่พวกตะกอนนี้จะไม่ออกด้วย เราจึงต้องเพิ่มเวลาในการโบวดาวให้ยาวขึ้น ซึ่งอาจต้องเพิ่มเป็น 10 วินาที หรืออาจเลือกใช้วาล์วโบวดาวแบบเปิดเร็วก็ได้เพื่อให้ตะกอนนี้ออกมา

        การล้างหม้อไอน้ำนั้นจะมีการล้างประมาณปีละ 2 ถึง 3 ครั้งต่อปีครั้ง ถ้าเราสามารถทำให้น้ำที่จะป้อนเข้าสู่หม้อไอน้ำมีคุณภาพดี ตะกรันที่เกิดขึ้นในหม้อไอน้ำก็จะน้อยลง ทำให้สามารถยืดระยะเวลาการล้างออกไปได้ หรืออาจจะล้างในความถี่ปกติแต่สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้

   

การกัดกร่อน

       การกัดกร่อนทำให้การถ่ายเทความร้อนลดลงเนื่องจากผิวท่อไม่เรียบและอาจจะเกิดรูพรุนเล็กๆซึ่งนานไปจะทำให้ท่อรั่วได้ ซึ่งการกัดกร่อนนั้นเกิดจากปัญหาออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำและกรดคาร์บอนิคซึ่งเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ ผลกระทบจากตัวอื่นๆจะมีน้อย

       ปัญหาจากออกซิเจนเกิดจากเมคอัพวอเตอร์หรือน้ำเติมเข้าหม้อไอน้ำ ที่อุณหภูมิห้องก๊าซออกซิเจนสามารถละลายอยู่ในน้ำได้ เมื่อเข้าสู่หม้อไอน้ำน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นความสามารถในการละลายของออกซิเจนลดลงทำให้ออกซิเจนแยกตัวออกจากน้ำ ออกซิเจนจะทำให้เกิดฟองเล็ก ๆ อยู่บนพื้นผิวของโลหะในหม้อไอน้ำ และทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีขึ้นผลกระทบของการมีออกซิเจนในหม้อไอน้ำก็คือ ทำให้เหล็กเป็นสนิม จะเกิดแอ่งหรือหลุ่มเล็ก ๆ จำนวนมากในบริเวณท่อและเปลือกของหม้อไอน้ำ กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ออกซิเจนพิตติง (Oxygen Piting) เราสามารถแก้ไขได้โดยใช้ดีแอร์เรเตอร์ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้น้ำจากคอนเดนเซทที่มีความร้อนสูงกับไอน้ำมาผสมกับน้ำเติมเพื่อให้น้ำร้อนขึ้น ที่อุณหภูมิ 100ํC ออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะเท่ากับ 0 ในการจะคุมอุณหภูมิน้ำเข้า Boiler ส่วนใหญ่จะคุมอยู่ 2 ระดับ 88 ํC กับ 104 ํC ถ้าอุณหภูมิน้ำป้อนสูงไม่เพียงพอที่จะไล่ออกซิเจนออกได้ก็อาจจำเป็นต้องเติมสารเคมีเข้าไปด้วย

       ปัญหาจากคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจาก การทำน้ำอ่อนเพื่อลดความกระด้าง โดยปกติความกระด้างของน้ำบาดาลหรือน้ำดิบอื่นจะอยู่ในรูปของ แคลเซียมไบคาร์บอเนต หรือแมกนีเซียมไบคาร์บอเนต เมื่อเราได้เอาแคลเซียมหรือแมกนีเซียมออกโดยเครื่องทำน้ำอ่อนแล้ว น้ำอ่อนที่ได้นั้นก็จะมีโซเดียมไบคาร์บอเนตออกมาด้วย ถ้าน้ำนั้นร้อนขึ้นจะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์แตกตัวออกมา เนื่องจากภายในหม้อไอน้ำเป็นระบบปิดก๊าซจะรวมกับน้ำกลายเป็นกรดคาร์บอนิคซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนได้ ซึ่งเราสามารถเอาก๊าซดังกล่าวออกโดยทางดีแอเรเตอร์นี้ด้วย

       ในทางปฏิบัติวิธีที่ดีที่สุดของการลดการกัดกร่อน และ ลดการเติมสารเคมี คือการน้ำไอน้ำกลั่นตัวกลับไปใช้ในหม้อไอน้ำให้มากที่สุด

       ปัญหาการกัดกร่อน สามารถดูได้จากสนิมในน้ำโบลดาวที่เราถ่ายออกมา ส่วนใหญ่น้ำที่เราป้อนเข้าไปในหม้อไอน้ำนั้น เราจะคุมค่าเหล็กไว้ไม่ให้เกิน 0.1 มก./ลิตร แต่เหล็กในน้ำโบลดาวนั้นมันเพิ่มขึ้นแสดงว่าผนังท่อเหล็กกำลังถูกกัดกร่อนนั่นเอง

    

แครี่โอเวอร์

        เมื่อน้ำในหม้อไอน้ำก็จะกลายเป็นสตีม สารละลายที่เป็นของแข็งจะละลายอยู่ในน้ำภายในหม้อไอน้ำเช่นเดิมไม่ได้ติดไปกับไอน้ำด้วย สารละลายนี้ก็จะสะสมมีความเข้มข้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อน้ำเดือดจะมีหยดน้ำบางส่วนจะพุ่งขึ้นไปกับไอน้ำด้วย สารละลายที่ว่านี้มันจะไปพร้อมกับหยดน้ำนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า แครี่โอเวอร์ ซึ่งอาจจะไปสร้างความเสียหายต่อผลผลิตหรืออาจจะก่อให้เกิดตะกรันขึ้นในท่อไอน้ำได้ ตัวอย่างในการย้อมผ้านั้นมีการใช้ไดเร็คสตีมเข้าไปสัมผัสกับเนื้อผ้าโดยตรง ถ้าสารละลายที่หลุดไปกับไอน้ำไปสัมผัสกับผ้ามันจะเกาะกับผ้าทำให้ผ้าเป็นรอยด่างเป็นจุด ๆได้

สาเหตุของการเกิดแครี่โอเวอร์ ก็คือ

- การเพิ่มการผลิตไอน้ำอย่างกระทันหัน ถ้าเราฟีดน้ำเข้าไปมากๆอย่างกะทันหันพร้อมกับ ทางด้านไฟ ก็โหมไฟเข้าไปมากๆด้วย ลักษณะก็จะคล้าย ๆกับการที่ เราต้มน้ำ ถ้าเราโหมไฟเต็มที่เทียบ กับไฟที่ค่อย ๆ คุมไว้เรียบ ๆ เบา ๆ การโหมไฟเต็มที่จะเกิดการกระเด็นของน้ำที่สูงกว่าทำให้หยดน้ำเล็กๆหลุดติดไปกับไอน้ำมากขึ้น

- ระดับน้ำในหม้อไอน้ำสูงเกินไป โอกาสที่หยดน้ำจะกระเด็นหลุดไปกับไอน้ำก็สูงขึ้น

- อัตราการเปิด-ปิดของปั๊มน้ำป้อนเข้า และ อัตราการป้อนเชื้อเพลิงที่สัมพันธ์กับภาระการเดินเครื่องไม่ถูกต้อง

- การเดินเครื่องที่ความดันต่ำกว่าความดันที่ได้ออกแบบไว้ เป็นผลทำให้ไอน้ำที่บริเวณผิวน้ำกลายเป็นไอในอัตราที่เร็วขึ้น

- ค่าสารละลายต่าง ๆ เช่น สารอินทรีย์ (Organic Matter) ของแข็งแขวนลอย (Suspended Solids) น้ำมัน (Presence of Oil) สารที่คล้ายสบู่ (Soap-Like Substances) ที่มีอยู่ ในหม้อไอน้ำมีค่าสูงมากเกินไป เพราะถ้ามันมีค่าสูงมากๆเวลากระเด็นหลุดออกไปได้ สารละลายที่ละลายอยู่ในน้ำที่กระเด็นหลุดติดไปกับไอน้ำนั้นก็จะมีปริมาณมากด้วย

วิธีการแก้สาเหตุของแครี่โอเวอร์นี้ก็คือ

- พยายามควบคุมการเดินระบบให้สม่ำเสมอ

- ควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสม

- ควบคุมสารละลายต่าง ๆ ในหม้อไอน้ำโดยการโบวดาวให้เหมาะสม

   

สารเคมีที่ใช้ในหม้อไอน้ำ

         สารเคมีที่เราใช้ในหม้อไอน้ำนั้นประการหลัก ๆ ก็คือ ใช้ในการกำจัดออกซิเจน กับใช้ในการกำจัดตะกรัน

         การกำจัดตะกรันเราจะใช้พวกสารประกอบฟอสเฟตเป็นส่วนใหญ่ มันจะสามารถรวมตัวกับแคลเซียมหรือแมกนีเซียม กลายเป็นแคลเซียมฟอสเฟตหรือแมกนีเซียมฟอสเฟต จับตัวกันเป็นตะกอนได้ แต่แค่ตัวนี้ตัวเดียวไม่เพียงพอต้องพ่วงด้วยโพลิเมอร์เพื่อให้ตะกอนที่เกิดขึ้นนั้นกระจายตัวไม่งั้นตะกอนมันจะไปจับตัวอยู่ในผนังท่อและก็กลายเป็นตะกรันขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นขณะที่โบวดาวจึงต้องมีเวลามากพอเพื่อให้ตะกอนที่กระจายตัวอยู่นั้นไหลออกมาได้ สารประกอบฟอสเฟตที่ใส่เพื่อป้องกันการเกิดตะกรันนั้น ต้องคุมให้หลงเหลืออยู่ระหว่าง 20-40 mg/l ถ้าเหลือน้อยกว่า 20 mg/l แสดงว่าน้ำป้อนอาจจะมีความกระด้างหลุดเข้าไปมาก ในกรณีนี้แสดงว่าฟอสเฟตที่เราใส่นั้นไม่เพียงพอ ถ้ามันเหลือมากกว่า 40 mg/l แสดงว่า ปริมาณฟอสเฟตที่ใส่ลงไปมากเกินไปควรใส่ลดลง ปกติเราจะคุม 2 อย่าง คุมคุณภาพน้ำเข้าทั้งอุณหภูมิทั้งความกระด้าง แล้วก็คุมการใช้ปริมาณสารเคมี ถ้าเราอ่านจากค่าปริมาณสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ในน้ำโบวดาวเราจะรู้ได้เลยว่าเราสามารถคุมการใช้สารเคมีได้เหมาะสมหรือไม่

          เคมีตัวต่อไปก็คือตัวที่ป้องกันการเป็นสนิม ที่นิยมใช้กันอยู่สำหรับโรงงานที่ไม่ใช่ประเภทอาหารเราจะใช้เป็นตัวไฮดราซีน(N2H4) แต่ถ้าเป็นโรงงานประเภทอาหารจะต้องใช้เป็นโซเดียมซัลไฟท์(Na2SO3)แทน ถึงแม้ว่าไฮดราซีนจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดออกซิเจนดีกว่า แต่มันเป็นสารคาร์ซิโนเจนหรือสารก่อมะเร็งตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นในโรงงานประเภทอาหารจึงห้ามใช้ เลยต้องหันมาใช้โซเดียมซัลไฟท์แทนถึงแม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า จุดที่เราจะป้อนสารเคมีดังกล่าวนั้นควรจะอยู่ระหว่างฟีดแทงค์ และ boiler โดยการฟีดเข้าไปในท่อจะก่อนปั๊มหรือหลังปั๊มก็ได้แต่ควรจะพ่วงกับตัวปั๊ม คือปั๊มทำงานเมื่อไรตัวป้อนสารเคมีตัวนี้ก็จะทำงานด้วย ให้มันเป็นสัดส่วนที่สม่ำเสมอกันกับปริมาณน้ำที่ป้อน ในบางที่จะคุมด้วยเวลาในการฟีดแต่ละครั้ง ซึ่งจะมีผลทำให้ในบางช่วงที่เราใช้สตีมน้อย เราไม่ได้เติมน้ำจากฟีดแทงค์เข้าไป แต่สารเคมีมันเติมไปเรื่อยๆก็จะมากเกินไป หรือบางช่วงเราใช้สตีมมากเราฟีดน้ำเข้าไปในแทงค์มาก แต่เคมีก็ยังเติมเท่าเดิมทำให้ไม่มีความสม่ำเสมอ ในการควบคุมการใช้สารเคมีให้เหมาะสมนั้นต้องพิจารณาความเข้มข้นของสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ว่ามีมากน้อยเพียงใด เราจะรู้ว่าเราใช้สารเคมีได้เหมาะสมเพียงใดสามารถตรวจสอบได้จากการวิเคราะห์น้ำโบวดาว ว่าสารเคมีแต่ละตัวคงเหลืออยู่เท่าไร ส่วนใหญ่ไฮดราซีนจะมีคำแนะนำว่าควรจะมีหลงเหลืออยู่ในน้ำโบวดาว 0.1-1 mg/l ถ้าอยู่ในช่วงนี้ก็แสดงว่าเราใช้ไฮดราซีนได้อย่างเหมาะสมแล้ว ในกรณีที่เราเติมเท่าเดิมแต่ไฮดราซีนไม่พอก็อาจจะเป็นเพราะว่าในน้ำมีออกซิเจนเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำฟีดของเรานั้นลดลงไปหรือ อาจมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นคือเดิมอาจกำหนดอุณหภูมิน้ำฟีดไว้ที่ 88 ํC หรือ 104 ํC แต่ กลับลดลงมาเหลือเพียง 60 ํC ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นผลให้ต้องสิ้นเปลืองสารเคมีตัวนี้มากขึ้นจนผลที่ตรวจจากน้ำโบวดาวเหลือน้อยกว่ามาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าปริมาณที่เราเติมอยู่นั้นอาจจะน้อยไปก็ได้

         กฎเกณฑ์การใช้สารเคมี คือต้องไม่ใช้มากเกินความจำเป็น เนื่องจากสารเคมีมีราคาแพง และทำให้ค่า TDS ของน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องระบายน้ำทิ้งมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพลดลง

  

การระบายน้ำทิ้ง (Blowdown)

         การรักษาความเข้มข้นของ TDS ในหม้อไอน้ำให้มีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนด จะต้องระบายน้ำออกไปจากหม้อไอน้ำและเติมน้ำใหม่ที่มีค่า TDS ต่ำและอุณหภูมิต่ำกว่า กระบวนการดังกล่าวนี้ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของพลังงานความร้อนน้ำที่ระบายทิ้ง ค่าใช้จ่ายของการซื้อน้ำ การบำบัดน้ำ และการสูบน้ำเข้าไปในหม้อไอน้ำด้วย การระบายน้ำทิ้งมากเกินไปทำให้เกิดความสิ้นเปลืองเป็นจำนวนมาก

        มีข้อสังเกตว่าการควบคุมสารละลายต่างเวลาเราตรวจสอบนั้นเราใช้เป็นค่าคอนดักติวิตี้หรือการนำไฟฟ้าแทนเนื่องจากค่าการนำไฟฟ้าจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับค่าของแข็งที่ละลายในน้ำ (Total Dissolved Solid)

         การควบคุมด้วยมือคือการเปิดปิดวาล์วตามเวลาที่กำหนด โดยวิเคราะห์ค่าคอนดักติวิตี้ สมมุติว่าควบคุมค่าไว้ที่ 5000 ถ้าค่าถึง 5000 เมื่อไรก็ทำการโบวดาวออกมา ด้วยการทดลองว่า 2 ชั่วโมง โบวออก 10 วินาที แล้วเราเช็คค่าคอนดักติวิตี้ของน้ำโบวดาวที่ออกมาได้ 6000 ก็แสดงว่าโบวออกน้อยไปอาจจะเพิ่มเป็น 15 วินาที เมื่อมาอ่านค่าใหม่ถ้าค่าคอนดักเหลือ 4000 ก็แสดงว่าจะโบวดาวออกมากไปก็ต้องลดเวลาการโบวดาวลง ส่วนมากเราจะใช้วิธีนี้ปรับไปเรื่อยๆ ข้อเสียของการควบคุมด้วยมือก็คือ เมื่อต้องการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามถ้าต้องการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ ควรระบายแต่ละครั้งให้มีปริมาณน้อยแต่ระบายให้บ่อยขึ้น โดยนำเครื่องควบคุมเวลามาใช้ควบคุมการระบายน้ำทิ้งในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับค่า TDS ที่เกิดขึ้น การควบคุมระบบนี้มีข้อเสียถ้าเครื่องเปิดวาล์วไม่นานพอตะกอนจะไม่สามารถออกมาได้

        ปริมาณน้ำที่ต้องโบวดาวอาจสามารถคำนวนได้จากสมการด้านล่างโดยเมื่อได้ปริมาณน้ำที่ต้องการให้ดูที่วาล์วที่ใช้ในการโบวดาวอีกครั้งหนึ่งว่าจะต้อง ใช้เวลาในการเปิดวาล์วนานเท่าใด ซึ่งสามารถหาได้จากค่า CV หรือ KV

Blowdown Rate = [TDS น้ำป้อนเข้า x อัตราการผลิต (kg/h)]/[TDS ที่กำหนด – TDS น้ำป้อนเข้า]

         การควบคุมแบบอัตโนมัติคือการติดตั้งเครื่องตรวจวัด TDS แบบต่อเนื่อง และส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ควบคุมเพื่อสั่งให้วาล์วเปิด-ปิด ระบบการระบายน้ำทิ้งอย่างต่อเนื่องนำมาใช้ได้ดีในที่ที่ต้องการให้มีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ โดยอัตราการระบายน้ำทิ้งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้มีการคำนวณไว้แล้ว ข้อเสียของระบบนี้ก็คือมีราคาสูง

         การเก็บน้ำโบวดาวไปตรวจสอบควรจะเก็บเมื่อตอนโบวดาวตามเวลาปกติ แต่เรามักจะพบว่าเมื่อไรเราจะตรวจก็จะเก็บเวลานั้นทันทีทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาโบวดาว โดยปกติความเข้มข้นจะขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงจุดโบวดาวเมื่อเติมน้ำเข้าไปใหม่ความเข้มข้นก็จะลดลงมาแล้วก็กลับขึ้นไปอีก สมมุติว่าเราเก็บตัวอย่างในช่วงที่ทำการโบวดาวมาใหม่ๆไปตรวจก็อาจจะทำให้การพิจารณาผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปได้

  

การตรวจวัดคุณภาพน้ำ

         ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำจะตรวจทั้ง 4 จุด ได้แก่ น้ำเติม(หรือน้ำเมคอัพ) น้ำป้อน(หรือน้ำฟีด) น้ำหม้อไอน้ำ(หรือน้ำโบวดาว) และน้ำคอนเดนเซท ความถี่ในการตรวจวัดส่วนใหญ่จะวัดกันเดือนละครั้งทุกๆเดือน ส่วนใหญ่โรงงานไม่ได้วัดเองบริษัทขายเคมีจะวัดให้ ในส่วนที่ต้องตรวจวัดประจำวันโรงงานจะเป็นผู้วัดเองได้แก่ค่า ph ค่า อีซี ค่าโตเติลฮาร์ดเนส

 

ความหมายของค่าต่าง ๆ ที่ทำการวัด  

1. ค่าความขุ่น ( Turbidity )

       ค่าความขุ่นจริง ๆ แล้วก็คือสารแขวนลอยหรือตะกอนแขวนลอย ( SS หรือ Suspended Solid ) เราจะวัดเป็นค่าความขุ่นหรือค่าความทึบแสงด้วยเครื่องมือที่ใช้แสงยิงผ่าน น้ำที่จะวัดค่าความขุ่น แล้วเครื่องมือนี้ก็จะอ่านค่าออกมา เป็นหน่วย NTU ( Nephelometric Turbidity Unit ) ค่านี้มีความจำเป็นในเรื่องของการกรองน้ำ ใน การใช้เครื่องกรองน้ำนั้นเราควรวัดค่าความขุ่นของน้ำในขณะก่อนกรองว่ามีค่า เท่าใด และหลังจากผ่านการกรองแล้วก็ควรวัดด้วยว่ามีค่าความขุ่นเหลืออยู่เท่าใด เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติของน้ำก่อนที่จะนำมากรอง จะได้พิจารณาได้ว่าควรจะกรองด้วยวิธีใด นานเท่าใดหรือควรจะล้างเครื่องกรองเมื่อไร และสามารถทราบถึงประสิทธิภาพของการกรองด้วย ในเรื่องความขุ่นของน้ำใช้ในโรงงานนั้นจะมีการตั้งค่ามาตรฐานไว้สำหรับการนำ ไปใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ หรือในการทำน้ำประปาก็จะมีการตั้งค่ามาตรฐานความขุ่นไว้ที่ไม่เกิน 5 แต่โดยปกติการประปาจะทำได้ถึงประมาณ 1 กว่าๆเท่านั้น

2. ค่า pH

       ค่านี้เป็นค่าที่แสดงความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำและสารละลาย ค่านี้สามารถบอกได้ว่าสารละลายนั้นมีความเป็นกลาง หรือมีความเป็นกรดหรือเป็นด่างมากน้อยเท่าใด ถ้าเป็นกลางค่านี้จะอยู่ที่ 7 ถ้าอยู่ระหว่าง 7 และ 0 ก็จะมีฤทธิ์เป็นกรด ค่ายิ่งต่ำลงก็ยิ่งเป็นกรดมากขึ้น แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 7 และ 14 ก็จะมีฤทธิ์เป็นด่างและค่ายิ่งสูงขึ้นก็จะยิ่งเป็นด่างมากขึ้น

3. ค่าความนำไฟฟ้า(Electrical Conductivity หรือ EC)

        ค่าดังกล่าวมีหน่วยเป็นไมโครซีเมน/เซ็นติเมตร ค่านี้เครื่องมือวัดอาจจะแสดงออกมาเป็นไมโครซีเมน/เมตรก็ได้ถ้ามีค่าสูงๆซึ่งจะต้องแปลงให้เป็น ไมโครซีเมน/เซ็นติเมตร ต่อไป

       ค่า TDS กับค่านี้มีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่เท่ากันหรือมีสัดส่วนที่เท่ากันทั้งหมด โดยปกติในน้ำดีทั่วๆไปค่า TDS จะประมาณ 0 .55 - 0.75 ของค่า EC ส่วนใหญ่เวลาคิดค่าโดยหยาบๆจะใช้ค่า TDS = 0.7(EC) ถ้าโรงงานมีแหล่งน้ำดิบหรือแหล่งน้ำดีอยู่และต้องการทราบค่า TDS และค่า EC ด้วย ก็ควรวัดทั้งค่า TDS และค่า EC ไว้ทั้งสองตัวก่อนสัก 3 – 4 ครั้งแล้วนำมาหารกันก็จะได้ค่าคงที่ตัวหนึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแฟคเตอร์คูณกับค่า EC สำหรับหาค่า TDS ในครั้งต่อๆไปได้เพราะค่า EC นั้นสามารถใช้เครื่องวัดค่าได้โดยง่าย ทำให้เราไม่ต้องนำน้ำไปต้มหาค่า TDS อีกต่อไป ทำให้เราสามารถควบคุมค่าของแข็งที่ละลายในน้ำได้ด้วยค่า EC แทนซึ่งสะดวกกว่า

       ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างค่าความนำไฟฟ้ากับค่า TDS คือนำน้ำมาแก้วหนึ่ง ใส่เกลือลงไป 1 ช้อน คนให้ละลายหมดแล้ววัดค่า EC ออกมา จะได้ค่า EC สูงมาก แต่ถ้าเอาน้ำแก้วนั้นใส่น้ำตาลลงไปแทน 1 ช้อนเท่ากันแล้วคนให้ละลายหมดเหมือนกัน จะวัดค่า EC ได้น้อยกว่า แสดงให้เห็นว่า ค่า EC จะมีค่าสูงก็ต่อเมื่อสารที่ละลายอยู่ในน้ำนั้นมีส่วนประกอบของโลหะ จากตัวอย่างนี้ เกลือเป็นสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ สามารถแตกตัวได้มากกว่า ค่าความนำไฟฟ้าจึงสูงกว่า แต่น้ำตาลที่ละลายลงไปนั้นเป็นพวกไฮโดรคาร์บอน ขนาดของโมเลกุลจะใหญ่ การแตกตัวไม่ค่อยจะดี มันก็จะส่งผลทำให้ความนำไฟฟ้ามีค่าน้อย ทั้งที่สารละลายทั้งสองชนิดนั้นมีค่าค่า TDS เท่ากันหรือปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำเท่ากัน ดังนั้นถ้าหากเราวัดค่าความนำไฟฟ้าออกมาได้ค่าสองค่าแล้วมาเทียบกัน จะเห็นว่าสัดส่วนของมันพอจะบอกได้คร่าว ๆ ว่าในน้ำนั้นมีสารละลายที่เป็นสารอินทรีย์ หรือสารอนินทรีย์มากน้อยแค่ไหนด้วย

4. TDS (Total Dissolve Solid)

        คือปริมาณของแข็งที่ละลายเจือปนอยู่ในน้ำ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีหน่วยวัดเป็น mg/l , ppm หรือ ppt    ใน เครื่องจักรบางประเภทจำเป็นต้องควบคุมค่า TDS เช่น คูลลิ่งทาวเออร์ , บอยเลอร์ 
ซึ่งสิ่งเจือปนในน้ำนั้นจะมีอยู่ 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และ ก๊าซ

1. สิ่งเจือปนในน้ำที่เป็นของแข็งประกอบด้วยสารแขวนลอยหรือตะกอนแขวนลอย สาหร่ายและจุลินทรีย์ เป็นต้น 
2. ส่วนของเหลวก็จะเป็นพวกสารละลายที่มีแร่ธาตุ เกลือ หรือสารประกอบต่างๆละลายอยู่ในน้ำ รวมทั้งพวกน้ำมัน บางสภาวะแร่ธาตุ เกลือหรือสารประกอบต่างๆอาจจะแยกตัวออกมาเป็นของแข็งก็ได้ เช่น พวกโลหะต่างๆที่อยู่ในสารละลายที่มีค่าความเป็นกรดหรือเป็นด่าง (ค่า pH) ค่าหนึ่งอาจจะละลายได้ แต่เมื่อค่า pH เปลี่ยนแปลงไปหรือลดลงจนถึงจุดๆหนึ่ง โลหะบางส่วนอาจจะแยกตัวออกมาเป็นของแข็งตกตะกอนลงสู่ด้านล่างของภาชนะที่รองรับสารละลายนั้นได้ สารละลายที่มีโลหะหรือของแข็งส่วนที่ยังละลายน้ำอยู่ก็ยังถือว่าเป็นของเหลว ส่วนโลหะที่ไม่ละลายเพราะเกินจุดอิ่มตัว ณ สภาวะขณะนั้นแล้วแยกตัวออกและตกตะกอนลงมาก็จะเป็นของแข็ง เป็นต้น ซึ่งความสามารถในการละลายได้หรือ Solubility ของสารเคมีแต่ละชนิดนั้นจะมีค่าที่ไม่เท่ากัน
3.ส่วนสิ่งที่เจือปนอยู่ในน้ำในรูปก๊าซ ได้แก่ ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น

      เราสามารถหาค่านี้ได้ด้วยการนำเอาน้ำที่ต้องการหาค่านี้จำนวนหนึ่ง ไปกรองเอาของแข็งที่แขวนลอยอยู่ออกเสียก่อนแล้วนำไปชั่งน้ำหนักครั้งหนึ่งก่อน แล้วนำไปให้ความร้อนจนน้ำระเหยหมดนำส่วนที่เหลือไปชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อน้ำน้ำหนักทั่งสองส่วนรวมกันจะได้ค่า TDS( ค่านี้อาจจะผิดเพี้ยนไปจากความจริงได้บ้าง เนื่องจากในสารละลายนั้นถ้ามีสารอินทรีย์ละลายอยู่ด้วยสารอินทรีย์บางส่วน อาจจะระเหยออกไป ซึ่งหากเรานำเอาสารละลายนั้นไปกลั่นแล้วนำน้ำกลั่นที่ได้ไปรวมกับของแข็ง ก็จะไม่ได้น้ำหนักไม่เท่าเดิม)

5. ค่าอัลคาไลนิตี้ (Alkalinity)

       เป็นค่าที่แสดงความเป็นด่างของน้ำ ค่านี้วัดยากกว่า ค่า pH ซึ่งค่า pH เป็นเพียงค่าเบื้องต้นที่ให้รู้ว่าน้ำหรือสารละลายนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดหรือเป็น ด่างมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีปริมาณเท่าใด ถ้าต้องการทราบเป็นปริมาณว่ามีความเป็นด่างมากน้อยเพียงใดเราจะใช้ค่า Alkalinity เป็นค่าชี้วัด โดยค่านี้มักจะใช้หน่วยเป็น มิลลิกรัมต่อลิตรเทียบกับแคลเซียมคาร์บอเนต ( mg/l as CaCO3 ) ซึ่งจะใช้เป็นค่า M – Alkalinity ( Total Alkalinity ) หรือ P – Alkalinity ก็ได้แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

       ความเป็นด่างของน้ำประกอบด้วยอิออนต่างๆ เช่น คาร์บอเนตอิออน ไบคาร์บอเนตอิออน ไฮดรอกไซด์อิออน และเกลือของกรดอ่อน แต่ความเป็นด่างของน้ำตามธรรมชาติจะอยู่ในรูปของแคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมไบคาร์บอเนต ซึ่งอาจจะมีโซเดียมไบคาร์บอเนตรวมอยู่ด้วย

       การหาค่า Alkalinity เราใช้วิธีการไตเตรทด้วยกรดซัลฟูริคเจือจาง ซึ่งสามารถหาได้ 2 แบบ

1. M – Alkalinity ใช้เมททิลออเร้นท์ เป็นอินดิเคเตอร์ จุดที่เกิดการเปลี่ยนสีจะมีค่า pH ที่ 4.5 ค่าความเป็นด่างที่ได้เกิดจากการทำปฏิกิริยาของกรดกับ ไฮดรอกไซด์อิออน คาร์บอเนตอิออน ไบคาร์บอเนตอิออน และเกลือของกรดอ่อน

2. P – Alkalinity  ใช้ฟีนอลทาลีน เป็นอินดิเคเตอร์ จุดที่เกิดการเปลี่ยนสีจะมีค่า pH ที่ 8.3 ค่าความเป็นด่างที่ได้เกิดจากการทำปฏิกิริยาของกรดกับ ไฮดรอกไซด์อิออน และคาร์บอเนตอิออน

       เนื่องจากค่าที่ได้จากการใช้เมททิลออเร้นท์มากกว่าค่าที่ได้จากการใช้ฟีนอลทาลีน ค่า M – Alkalinity จึงถือเป็นค่า Total Alkalinity หรือค่าความเป็นด่างทั้งหมด

6. ค่าความกระด้าง ( Total Hardness )

         มักจะใช้หน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อลิตรเทียบกับแคลเซี่ยมคาร์บอเนต( mg/l as CaCO3 ) น้ำบาดาลโดยทั่วไปค่า Hardness จะอยู่ในรูปไบคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแคลเซียมหรือแมกนีเซียมไบคาร์บอเนต ส่วนน้ำตามแม่น้ำลำคลองเนื่องจากต้องไหลมาเป็นระยะทางที่ยาว ไกล พวกที่เป็นไบคาร์บอเนตจะแตกตัวไปเป็นคาร์บอเนตซึ่งมีความสามารถในการละลายน้ำได้น้อยกว่าจะตกตะกอนเป็นของแข็ง

        ความกระด้างของน้ำจะมีส่วนเป็นน้ำกระด้างชั่วคราวและถาวร โดยสัดส่วนขึ้นอยู่กับอนุภาคลบของสารประกอบในน้ำนั้น ถ้าอนุภาคลบของสารประกอบในน้ำเป็นพวกไบคาร์บอเนตถ้าเมื่อใด้รับพลังงานความร้อนจะสลายตัวกลายเป็นคาร์บอเนตซึ่งละลายในน้ำได้น้อยมากทำให้เกิดการตกตะกอน แต่ถ้าอนุภาคลบของสารประกอบในน้ำไม่ใช้คาร์บอเนตแต่เป็นพวกซัลเฟต คลอไรด์ ไนเตรท หรือฟอสเฟต แสดงว่าเป็นน้ำกระด้างถาวร เพราะอนุภาคดังกล่าวไม่ตกตะกอนสามารถละลายอยู่ในน้ำได้ ดังนั้นถ้าเราทำการกำจัดแคลเซียมกับแมกนีเซียมออกจากสารละลายได้ทั้งหมดเราจะถือว่าสารละลายนั้นไม่มีความกระด้างหรือฮาร์ดเนตเหลืออยู่กลายเป็นน้ำอ่อน เราจึงมีวิธีการทำน้ำอ่อนโดยการลดความกระด้างลงให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการให้น้ำนั้นผ่านเรซิ่น เพราะ เรซิ่นจะสามารถจับแคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมได้ เมื่อน้ำผ่านเรซิ่นแล้วจะยังมีพวกคาร์บอเนตหรือไบคาร์บอเนตเหลืออยู่ เช่น โซเดียมคาร์บอเนตหรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นต้น เราก็ถือว่าน้ำที่กรองด้วยเรซิ่นนั้นไม่กระด้างแล้วเนื่องจากสามารถกำจัดแคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมออกไปได้แล้ว น้ำนั้นเป็นน้ำอ่อนเพราะน้ำนั้นไม่มีความกระด้างเหลืออยู่แล้วหรือเหลืออยู่ก็น้อยกว่าค่าที่เรากำหนดไว้ในมาตรฐาน

7. ค่าเหล็ก ( Iron )

        มีหน่วยวัดเป็น มิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) เหล็กเป็นตัวปัญหาตัวหนึ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประเภทใดๆ ทั้งสิ่งทอ และอาหาร เหล็กที่มีอยู่ในน้ำจะมีอยู่ ทั้ง 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ เหล็กที่มีประจุบวกสอง อีกรูปแบบหนึ่งคือเหล็กที่มีประจุบวกสาม เหล็กที่มีประจุบวกสอง ได้แก่พวก เฟอรัสไฮดรอกไซด์ ส่วนเหล็กบวกสามได้แก่พวกสนิมเหล็ก หรือเฟอริคออกไซด์ ( Fe2O3 ) เหล็กบวกสองจะละลายน้ำได้ดีกว่าหรือ มีค่า Solubility สูงกว่า เหล็กบวกสาม ดังนั้นเหล็กในน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเหล็กบวกสอง วิธีการกำจัดของเราก็คือเปลี่ยนจากรูปบวกสองให้มาเป็นบวกสาม มันก็จะตกตะกอนแยกชั้นออกไป โดยการให้น้ำนั้นสัมผัสกับอากาศก็คือการเติมออกซิเจนนั่นเอง อากาศจะออกซิไดซ์เหล็กที่มีประจุบวกสองให้เป็นสนิมเหล็กก็สามารถแยกออกโดยการตกตะกอนออกไปได้ หรือว่าเติมคลอรีนให้ออกซิไดซ์เหล็กบวกสองให้เป็นเหล็กบวกสาม ( เป็นเฟอริกคลอไรด์ )ก็ได้ ค่าเหล็กที่เกินกว่ามาตรฐานปัจจุบันโรงงานทั่วไปมักจะใช้พวกแมงกานีสกรีนแซนด์ ซึ่งแมงกานีสกรีนแซนด์นี้เป็นตัวจับพวกเหล็กบวกสองได้ดี เหล็กที่มีประจุบวกสองนี้ต้องระวังอย่าให้มันเข้าตัวซอฟเทนเนอร์ได้ เพราะว่าเรซิ่นที่เราใช้จับพวกแมกนีเซียมและแคลเซียมนั้นสามารถจับเหล็กที่มีประจุบวกสองได้เช่นกัน แต่แคลเซียมและแมกนีเซียมที่เรซิ่นจับไว้นั้น เกลือหรือโซเดียมคลอไรด์สามารถล้างออกได้แต่เหล็กบวกสองนี้โซเดียมคลอไรด์ไม่สามารถล้างออกได้ จะทำให้เรซิ่นหมดสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะผ่านน้ำเข้าเข้าถังเรซิ่นควรจะทำการกำจัดเหล็กออกเสียก่อน

8. ค่าปริมาณคลอไรด์ ( Chloride )

        มีหน่วยเป็น มิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) ค่านี้จะส่งผลต่อการใช้น้ำเช่นกัน ส่วนใหญ่คลอไรด์ในน้ำจะอยู่ในรูปของโซเดียมคลอไรด์เป็นเพราะโซเดียมมีความไวกว่าโลหะอื่นและมีปริมาณมาก แต่คลอไรด์ไม่ใช่มีแต่โซเดียมคลอไรด์ เท่านั้น ยังจะมีอยู่ในรูปของแคลเซียมคลอไรด์ แมกนีเซียมคลอไรด์ หรือเฟอร์ริคคลอไรด์ด้วย ในการวัดเราจะวัดในรูปของคลอไรด์ทั้งหมด ค่านี้จะคล้ายๆกับค่า Salinity ที่เราจะใช้ดูว่ามันมีค่าความเค็มเท่าไร

9. ค่าซิลิก้า ( Silica )

         มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) เรื่องซิลิก้าในน้ำนั้นที่เรากลัวมากที่สุด เนื่องจากมันจะจับตัวอยู่ในรูปของตะกอนซิลิเกตภายในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้น้ำ เนื่องจากว่ามันเป็นฉนวนความร้อนที่ดียิ่งกว่าแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นเท่าตัว ทำให้การถ่ายเทความร้อนลดลงมาก และซิลิก้าเวลาละลายน้ำแล้วจะมีฤทธิ์เป็นกรดซิลิลิคด้วย สำหรับวิธีการกำจัดออกนั้น ถ้าแหล่งน้ำนั้นมีซิลิก้าสูง ๆ เราอาจจะต้องเลี่ยงไม่ใช้แหล่งน้ำนั้นเลย จะไม่หาวิธีกำจัดออกเพราะกำจัดได้ยากมาก เท่า ที่รู้ตอนนี้ถ้าจะกำจัดซิลิก้าออกจะต้องใช้ตัวแอนไอออนเรซิ่นเป็นตัวจับ แล้วตัวซิลิก้าตัวนี้มันจะหลุดมาก่อนเพื่อนถ้าแอนไอออนเรซิ่นเริ่มอิ่มตัว

10.ฟอสเพส (Phosphate)

         มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) ปัญหาการเกิดตะกรันในหม้อไอน้ำนั้น อาจต้องมีการใช้สารเคมีช่วยด้วย เพราะในน้ำป้อนอาจจะมีเกลือแคลเซียมและเกลือแมกนีเซียมหลุดเข้าไปได้ เราจึงต้องใส่ตัวฟอสเฟตเข้าไปช่วยให้มันจับตัวเป็นแคลเซียมฟอสเฟต หรือแมกนีเซียมฟอสเฟต ซึ่งจะเกิดเป็นตะกอน ไม่เกิดเป็นตะกรัน ในการวัดเราจะวัดน้ำในบอยเลอร์ซึ่งถ้าค่าดังกล่าวน้อยอาจทำให้เกิดตะกรัน แต่ถ้าค่าดังกล่าวมีมากเกินไปอาจทำให้ค่า TDS สูงขึ้นด้วย

11.ซัลไฟท์ (Sulfite) หรือ ไฮดราซีน (Hydrazine)

         มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) เป็นสารเคมีที่ป้องกันการเป็นสนิมโดยการกำจัดออกซิเจนที่อยู่ในน้ำ สำหรับโรงงานที่ไม่ใช่ประเภทอาหารเราจะใช้เป็นตัวไฮดราซีน(N2H4)เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกำจัดออกซิเจนดีกว่า แต่ถ้าเป็นโรงงานประเภทอาหารจะต้องใช้เป็นโซเดียมซัลไฟท์(Na2SO3)แทน เพราะว่าไฮดราซีนจะแต่มันเป็นสารคาร์ซิโนเจนหรือสารก่อมะเร็ง

12.โพลิเมอร์ (Polymer)

        มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม/ลิตร ( mg/l ) การกำจัดตะกรันเราจะใช้พวกสารประกอบฟอสเฟตเพื่อให้ตะกรันจับตัวกันเป็นตะกอน แต่แค่ตัวนี้ตัวเดียวไม่เพียงพอต้องพ่วงด้วยโพลิเมอร์เพื่อให้ตะกอนที่เกิดขึ้นนั้นกระจายตัว Disperse ไม่งั้นตะกอนมันจะไปจับตัวอยู่ในผนังท่อและก็กลายเป็นตะกรันขึ้นมาอีก ในการวัดเราจะวัดน้ำในบอยเลอร์ซึ่งถ้าค่าดังกล่าวน้อยอาจทำให้เกิดตะกรัน แต่ถ้าค่าดังกล่าวมีมากเกินไปอาจทำให้ค่า TDS สูงขึ้นด้วย

มาตรฐานการควบคุมน้ำ Boiler Water Standard

(JIS B8223: P £ 1 Mpa,30 £ ER £60 kg/m2/h)

Parameter

Standard Value
Feed Water
pH 5.8-9.0
Total Hardness £ 1 mg/l
Boiler Water
pH 11.0-11.8
Electrical Conductivity £ 4500 mS/cm
TDS £ 3000 mg/l
Chloride ions £ 500 mg/l
P-Alkalinity 80-600 mg/l
M-Alkalinity 100-800 mg/l
N2H4 0.1-1.0 mg/l
Sulfite ions 10-50 mg/l
Phosphate ions 20-40 mg/l

ตัวอย่างรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำและการวิเคราะห์

clip_image006

การวิเคราะห์น้ำ

       p-Alkalinity เป็นไปตามมาตรฐาน ในน้ำฟีดมีค่า 50 ppm (มาตรฐานน้ำในหม้อไอน้ำมีค่า 80- 600 mg/l) และในน้ำบอยเลอร์มีค่า 500 ppm (มาตรฐานของน้ำบอยเลอร์อยู่ ระหว่าง 80-600 mg/l)

       m- Alkalinity น้ำของบอยเลอร์ 2500 มีค่าสูงเกิน (มาตรฐานกำหนดไว้ระหว่าง100-800mg/l)

       Specific Conductivity ลองดูค่าการนำไฟฟ้าที่น้ำฟีดมีค่า 3370 ขณะที่น้ำซอฟมีค่าเพียง 845 เท่านั้นแสดงว่ามีความผิดปกติเพราะน้ำฟีดมีน้ำคอนเดนเซทเข้ามาผสม ควรจะมี ค่าต่ำกว่า 845 อาจผิดที่การตรวจวัด หรืออาจจะเกิดแครี่โอเวอร์ทำให้ น้ำคอนเดนเสทมีสารละลายผสมอยู่กลับมารวมกับน้ำฟีดจึงทำให้มีค่าสูงก็ได้ เมื่อพิจารณาค่า ความนำไฟฟ้าของน้ำบอยเลอร์กับน้ำซอฟดู 5920/845 ได้ประมาณ 7 เท่า (กรณีนี้ น้ำฟีดมีค่าที่ผิดปกติจึงเทียบกับน้ำซอฟแทน) ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนของซิลิกา เมื่อดูน้ำในบอยเลอร์มีค่า 64.22 เมื่อเที่ยบซิลิกาในน้ำฟีดมีค่า 9.78 ก็ประมาณ 6-7 เท่า แสดงว่าค่าความนำไฟฟ้าที่วัดได้ 3370 นั้นอาจผิดพลาดจากการตรวจวัดก็ได้

       Total Iron ดูค่าเหล็กของน้ำซอฟ หรือน้ำเมคอัพแค่ 0.29 ,0.11 , 0.09 เท่านั้น แม้แต่น้ำฟีดก็ยัง แค่ 0.18 แต่น้ำโบวดาวมีเหล็กออกมามากถึง 27.43 แสดงว่าเกิดสนิมแน่นอน มี การกัดกร่อนเกิดขึ้น

       Chloride ค่าคลอไรด์จาก 50 ppm ในน้ำซอฟ แต่ในน้ำฟีดเป็น 160 ppm ตรงนี้แสดงว่าคอนเดนเซทเกิดแคร์รี่โอเวอร์

       Silica ซิลิกาในน้ำฟีดมีค่า 9.78 แต่ในน้ำซอฟมีค่า 16.22 แสดงว่าซิลิกาในน้ำคอนเดน เซทมีน้อยเมื่อมารวมกับน้ำซอฟทำให้มีค่าต่ำลง

       Sulfite น้ำบอยเลอร์อ่านได้ 164 ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 10-50 เกินกว่ามาตรฐานมาก

       Phosphate น้ำบอยเลอร์อ่านได้ 544.74 ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 20-40 เกินกว่ามาตรฐานมาก

       เราลองมาดูผลการรายงานของบริษัทนี้สรุปว่าว่าน้ำซอฟตัวที่ 1 และตัวที่ 2 นี่ควบคุมคุณภาพความกระด้างได้ถูกต้อง ตัวที่3 ความกระด้างวัดได้ 206 แสดงว่า ตัวโตเติลฮาร์ดเนสหลุดออกไปแล้ว ตัวฟีดวอเตอร์ค่าต่าง ๆ สูงกว่าน้ำซอฟอาจเกิดจากการล้างเครื่องกรองไม่สะอาด แต่จากการวิเคราะห์ค่าโตเติลฮาร์ดเนสที่เกินน่าจะมาจากคอนเดนเซทซึ่งเกิดแครี่โอเวอร์

     ส่วนค่า ph อัลคาไลด์ และ คลอไรด์ ที่ค่อนข้างสูงเมื่อมาดูที่ค่าซัลไฟท์กับตัวฟอสเฟตมีค่ามากกว่ามาตรฐานสูงมากแสดงว่ามีการใช้สารเคมีมากเกินไป แต่บริษัทไม่ได้บอกเราว่าควรลดการใช้เคมี แต่กลับไปแนะนำว่าให้เราโบวดาวมากขึ้น นี่คือจุดเสียของบริษัทขายเคมีที่ต้องการขายเคมีให้ได้มากๆจึงไม่แนะนำให้เราลดการใช้สารเคมีลง

   

น้ำที่ใช้ในหม้อน้ำร้อน

การบำบัดน้ำภายใน (Internal Treatment)

         ระบบเล็ก ๆ ส่วนใหญ่จะใช้งานที่อุณหภูมิต่ำ ไม่ต้องการการบำบัดน้ำที่เติมเข้าไป นอกเสียจากว่าค่าของความกระด้างทั้งหมดที่ละลายน้ำเกินกว่า 100 มิลลิกรัม/ลิต ในกรณีเช่นนี้ ให้ใช้วิธีการทำน้ำอ่อนโดยการแลกเปลี่ยนอิออนก็เพียงพอแล้ว และสำหรับระบบใหญ่ ๆ ที่ใช้ความดันต่ำก็ใช้วิธีการบำบัดน้ำวิธีนี้เช่นเดียวกัน สำหรับการใช้งานที่อุณหภูมิปานกลางถึงค่อนข้างสูง น้ำที่เติมจะต้องผ่านเครื่องกรองน้ำระบบแยกแร่ธาตุ (Demineralised) ก่อนที่จะนำไปใช้งาน

       การบำบัดน้ำภายใน (Internal Treatment) นอกเหนือจากระบบเล็ก ๆ ที่ใช้ในบ้านเรือนแล้ว ระบบน้ำร้อนทั้งหมดยังต้องการเพิ่มสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในระบบคือ

          -  น้ำที่เติมเข้าไปจะต้องมีความเป็นด่างเล็กน้อย เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดที่มีอยู่ใน ธรรมชาติ

          -  สารกำจัดออกซิเจน เพื่อป้องกันการกัดกร่อน

          -  สารปรับสภาวะของตะกอนเหนียวเพื่อป้องกันการตกตะกอนและการเกิดเมือกเหนียวเกาะ พื้นผิวถ่ายเทความร้อน

     เนื่องจากระบบส่วนใหญ่มีอัตราการเติมน้ำที่ต่ำมาก ดังนั้นความจำเป็นในการเติมสารเคมีเข้าไป จึงควรกำหนดเวลาของการทดสอบคุณภาพน้ำที่ถูกต้องจะต้องเติมน้ำเข้าไปในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้